บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

เกียรติคุณหลังเกษียณ

หลังจากที่ลุงเกษียณราชการแล้ว ลุงยังเผยแพร่วิชาธรรมกายอยู่หรือไม่?

นี่คือคำถาม หลังจากลุงเกษียณราชการแล้ว มีเรื่องราวต้องทำอยู่ 3 เรื่อง อันเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตของลุง ลุงจะลำดับเรื่องให้ทราบ ดังต่อไปนี้

เรื่องแรกคือ เรื่องที่ลุงจะโด่งดัง เพราะมารู้จักคุณชูชัย ศรีสุชินวงศ์ (เภสัชกร) และรู้จักหมอบุญชัย องค์ศรีตระกูล (ทันตแพทย์) ทั้ง 2 ท่านนี้บอกว่า ตำราของลุงดีทุกหลักสูตร

ทำไมจึงไม่เอาตำราเหล่านั้นเข้าโรงพิมพ์? ให้โรงพิมพ์เป็นสื่อกลางจำหน่าย คนทั่วประเทศจะได้ซื้อทั่วกัน

ลุงเอาตำราชั้นดีของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาเก็บไว้คนเดียวอย่างนี้ คนทั่วประเทศเขาไม่รู้ เขาไปซื้อไม่ถูก เพราะไม่มีการโฆษณาให้เขาทราบ คนจึงไม่รู้ว่าของดีนั้นอยู่ที่ใด?

คงรู้กันเฉพาะคนใกล้ชิดของลุงเท่านั้น เพราะคนใกล้ชิดเหล่านั้น ลุงจะแจกตำราให้เป็นธรรมทาน ก็รู้กันเฉพาะผู้ได้รับแจกเท่านั้น แต่คนทั่วไปที่เขาใฝ่ใจอยากเรียนวิชาธรรมกายชั้นสูง เขาไม่รู้ เพราะไม่มีใครบอกเขา

สำนักสอนทั่วไปนั้น เขาไม่สอนวิชาธรรมกายทุกหลักสูตรเหมือนอย่างลุง แต่ลุงสอนทุกหลักสูตร รวมแล้วถึง 5 หลักสูตร คือ

ก) วิชาธรรมกายหลักสูตรเบื้องต้น ได้แก่เล่ม "ทางมรรคผล" (คือ เล่มภาพปกเป็นภาพ 18 กาย)
ข) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับกลาง ได้แก่เล่ม "คู่มือสมภาร”
ค) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับยาก ได้แก่เล่ม "วิชชามรรคผลพิสดาร 1"
ง) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับยากมาก ได้แก่เล่ม "วิชชามรรคผลพิสดาร 2"
จ) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับยากที่สุด ได้แก่ "หลักสูตรปราบมาร" ขณะนี้ตำราเสนอต่อประชาชนไปแล้ว 5 ภาค คือ ปราบมารภาค 1 - 2 - 3 - 4 – 5

ลุงได้นำวิชาธรรมกายทุกหลักสูตรมาเขียนขยายความใหม่ ให้เกิดความง่าย เพราะทุกหลักสูตรที่หลวงพ่อรวมเป็นตำราไว้นั้น ยังเป็นปริยัติหรือเป็นทฤษฎีอยู่ ยังไม่สู่ภาคปฏิบัติแน่ชัด จึงยากแก่การศึกษาเล่าเรียนของคนทั่วไป คือ อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง

ยังหาแนวปฏิบัติในขั้นเดินวิชาไม่ได้ นี่คือ จุดจบของวิชาธรรมกาย

ตำราเดิมทุกหลักสูตรที่หลวงพ่อทำไว้นั้น เหมาะสำหรับผู้มีบารมีธรรมสูงส่งเท่านั้น คือ เหมาะสำหรับผู้เป็นอริยบุคคล บุคคลเหล่านั้นอ่านบทบัญญัติแล้วจะเข้าใจ แต่คนสามัญอย่างเรา อ่านบทบัญญัติแล้วจะไม่รู้เรื่อง

หากถามผู้สนใจทั่วไปดู ถามว่าตำราวิชาธรรมกายที่หลวงพ่อรวมไว้นั้นดีหรือไม่? ทุกคนตอบว่าดีหมด แต่ถามว่า "อ่านแล้วรู้เรื่องไหมครับ ?"

ทุกคนจะตอบว่า รู้เรื่องเป็นส่วนน้อยเท่านั้น นี่คือ ตัวปัญหา

ลุงพยายามเขียนขยายความหมดทุกบทเรียนและทุกหลักสูตร อธิบายไปทีละบท แล้วโยงความรู้สรุปแต่ละบท หาแนวเดินวิชาให้ได้ ว่าบทเรียนนี้มีวิธีเดินวิชาอย่างไร?

เหมือนการเรียนวิชาเรขาคณิตในโรงเรียน อ่านตัวทฤษฎีแล้ว เข้าใจอย่างไร? ตีความให้เข้าใจภาษาหนังสือก่อน เข้าใจศัพท์เฉพาะก่อน แล้วสรุปความรู้ของทฤษฎีนั้น

จากนั้นก็แสดงวิธีพิสูจน์ออกมา ที่ตัวบทคือ ตัวทฤษฎีเขาว่าอย่างนั้น มีวิธีพิสูจน์อย่างไร? การอธิบายวิชาธรรมกายที่ลุงขยายความก็ดำเนินเช่นนั้น

บัดนี้ ตำราวิชาธรรมกายทุกหลักสูตรที่ลุงเขียนขยายความนั้น เข้าสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งแล้ว สำนักพิมพ์เขาจัดพิมพ์ออกวางจำหน่ายแล้ว

ประชาชนทั่วประเทศซื้อไปอ่าน ต่างให้ความนิยมแก่ลุง มีหลายราย เขาบอกว่า เขาประทับใจในความรู้ที่ลุงได้นำมาเขียน ตั้งแต่วันนั้นมา ลุงเลยกลายเป็น "คนดัง" ดังเพราะอะไร ?

ดังเพราะท่านทั้งหลายยกย่อง ดังเพราะตำรามีคุณภาพ ลุงก็บอกแล้วว่าลุงเป็นฆราวาส ไม่ได้เป็นพระสงฆ์ แต่ท่านทั้งหลายให้ความเคารพ ให้ความเชื่อถือในวิชาธรรมกายทุกหลักสูตร

เพราะตำราเป็นตัวบ่งชี้ถึงขีดความรู้ ขีดความสามารถ เป็นหลักฐานอยู่ เป็นพยานอยู่ เป็นตัวหนังสือให้พิจารณา

แต่คนที่เป็นมารเท่านั้นที่เขาจะไม่เห็นไม่ยินดี คนที่เป็นภาคดำเท่านั้นที่เขาจะไม่ส่งเสริมสนับสนุน เพราะมารกับธรรมภาคขาวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เขาจึงคัดค้าน

ป่วยหนักหลังเกษียณ

เรื่องที่สองคือ เรื่องที่ลุงเกษียณราชการได้ไม่นาน ลุงก็ป่วยเป็นมะเร็งกล่องเสียง ลุงเข้ารับการผ่าตัดและรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพ ฯ

ขั้นแรกเป็นขั้นตอนผ่าตัด ลุงเป็นคนไข้ในโรงพยาบาล 23 วัน

ขั้นตอนที่สอง ไปพักค้างที่โรงแรมตรัง ข้างบางลำภู เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อฉายแสงตามวิธีการของหมอ ปรากฏว่า ลุงพูดไม่ได้มาตั้งแต่วันนั้น

พวกเราในฐานะเพื่อนสหธรรมิก ต่างเดือดร้อนใจถึงงานเผยแพร่วิชาธรรมกายที่ลุงดำเนินการอยู่ จะทำอย่างไร? จะให้พวกเราหยุดไปเลยหรืออย่างไร ? เพราะลุงอยู่ในฐานะพูดไม่ได้ การสื่อสารใช้วิธีเขียนในกระดาษเท่านั้น

นี่คือ จุดวิกฤตของชีวิต ลุงตอบอะไรแก่เพื่อนสหธรรมมิกไม่ได้เลย? เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่หรือจะตาย?

ที่แน่ๆ คือ ตอนนี้พูดไม่ได้แล้ว พวกเราที่ไปๆ มาๆ ส่วนใหญ่มีปัญหาจะให้ลุงอธิบายทั้งนั้น มีเรื่องจะถามลุงทั้งนั้น ลุงพูดไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร?

เขียนหนังสือตอบโต้ก็ไม่ทันใจ ลุงกลุ้มใจมาก ลุงก็ได้แต่ใช้มือชี้โบ๊ชี้เบ๊ให้พวกเรา ไม่ทราบว่าพวกเราจะเข้าใจได้สักแค่ไหน?

ต่อมาใช้เครื่องช่วยพูด การสื่อสารพอรู้กันบ้าง แม้เครื่องช่วยพูดจะพูดไม่ได้ทุกคำ แต่ก็พอสื่อสารกันได้บ้าง แม้จะไม่รู้เรื่องตลอด แต่ก็พอได้บ้าง ก็ยังดีกว่าสื่อความไม่ได้เลย

นี่คือ ปัญหาใหญ่ที่พวกเราเพื่อนสหธรรมิกกังวลใจกันมาก ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น