บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ศึกษาต่อที่กรุงเทพ

เมื่อจบหลักสูตร ม.6 จากโรงเรียนวิสุทธิรังษี (กาญจนบุรี) แล้ว ก็เข้าสอบคัดเลือกที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเข้าเรียนต่อวิชาครูหลักสูตรประโยคประถม (ป.ป.)

ได้เข้าเรียนวิชาครูประโยคประถมที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร อยู่หลังกระทรวงศึกษาธิการ ตรงข้ามกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

หลักสูตรเรียน 3 ปี จบแล้วได้วุฒิ ป.ป. อัตราเงินเดือน 600 บาท เป็นข้าราชการครูชั้นจัตวา

กล่าวถึงโรงเรียนฝึกหัดครูสมัยนั้น โรงเรียนฝึกหัดครูชายมี 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร กับโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

โรงเรียนฝึกหัดครูหญิงมี 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนสวนสุนันทา กับโรงเรียนเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์

ทั้ง 4 โรงเรียนนี้ผลิตครูวุฒิ ป.ป. หลักสูตรเรียน 3 ปี ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงมีโรงเรียนเดียว คือ โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม อยู่ติดกับโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร รับผู้ที่เรียนจบวุฒิ ป.ป. เรียนต่อหลักสูตรฝึกหัดครูมัธยมอีก 2 ปี ได้วุฒิ ป.ม. อัตราเงินเดือน 750 บาท เป็นข้าราชการครูชั้นตรี

ลุงเรียนวิชาครูหลักสูตรประโยคประถม (ป.ป.) ที่โรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร หลักสูตร 3 ปี ตั้งแต่ปี 2497-2499 เป็นโรงเรียนอยู่ประจำ คือ เป็นโรงเรียนกินนอน เรียนจบในปี 2499 บรรจุเป็นครูโรงเรียนโยธินบูรณะในปี 2499 นั้น

คราวนี้มาดูประวัติการเรียนฝึกหัดครู 3 ปี ผลการเรียนไม่ดี ปัญญาไม่ดี เรียนตามเพื่อนๆ เขาไป สถานการณ์ของบ้านเมืองตอนนั้น ประชากรระหว่าง 18-20 ล้านคน

การคมนาคมในกรุงเทพยังมีตารางรถรางค่าโดยสาร 25 สตางค์ มีรถสามล้อโดยสาร 1-2 บาท รถเมล์ประจำทาง 50 สตางค์

อำนาจทางการเมืองถ่ายโอนจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นักมวยชื่อดังในยุคนั้นคือ สุข ปราสาทหินพิมาย, ชูชัย พระขรรค์ชัย, สุรชัย ลูกสุรินทร์,ประยุทธ อุดมศักดิ์

คู่มวยดังแห่งยุคคือ อุสมาน ศรแดง กับทองใบ ยนตรกิจ คู่มวยสากลที่ดังคือ จำเริญ ทรงกิตรัตน์ กับ จิมมี่ คารัทเธอร์ ต้องถอดรองเท้าชกกัน เพราะฝนตก แต่จำเริญก็ไม่ประสบความสำเร็จ ต่อมาจึงถึงยุคของโผน กิ่งเพชร

นี่คือ บรรยากาศในตอนที่ลุงเรียนอยู่ในกรุงเทพสมัยนั้น

ประวัติสำคัญของลุงในตอนนี้คืออะไร? ปิดเทอมแล้วไม่กลับบ้าน แต่ไปอาศัยอยู่วัดปากน้ำกับพระมหาประเสริฐเพื่ออาศัยเรียนวิชาธรรมกายตอนเย็น 

ไปเรียนที่บ้านครูญาณี ศิริโวหาร บ้านของท่านอยู่ข้างศาลาบำเพ็ญบุญ

บางวันก็ไปนั่งฝึกในอุโบสถวัดปากน้ำ คุณพ่อของลุงเป็นห่วง ทำไมโรงเรียนปิดเทอมแล้วไม่กลับบ้าน? กลัวจะไปเสียคน กลัวจะไปเที่ยวเตร่ จึงติดต่อพี่ชายซึ่งขณะนั้นทำราชการอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี (คุณเฉลิม บุญมานุช) ให้เดินทางไปกรุงเทพเพื่อตามหาลุง แล้วให้พาตัวกลับบ้าน

พี่ชายของลุงเดินทางมากรุงเทพอย่างทันใด ติดตามจนพบลุง พบว่าลุงอาศัยอยู่กับพระมหาประเสริฐที่วัดปากน้ำ

ถามพระมหาประเสริฐว่า ลุงมาอยู่ด้วยเพื่อประสงค์อะไร? ทราบชัดว่า มาเรียนวิชาธรรมกาย จึงหมดห่วง

พี่ชายของลุงยังพักค้างอยู่วัดปากน้ำ 1 คืน นอนอยู่หน้ากุฏิพระมหาประเสริฐ รุ่งขึ้นก็เดินทางกลับจังหวัดกาญจนบุรี

ตรงนี้เป็นประวัติสำคัญขอการเรียนวิชาธรรมกายของลุงฝึกส่วนตนนั้น ก็ฝึกในโบสถ์ แต่ตอนเย็นไปเรียนที่บ้านครูญาณี ศิริโวหาร ไปกับหลวงพ่อสายบัว ยังจำได้แม่น ตั้งแต่ลุงเรียนจบวิชาครูแล้ว

ลุงไม่พบหลวงพี่สายบัวอีกเลย สิ่งที่ลุจำไม่ลืมอีกเรื่องหนึ่งก็คือ พระประธานในโบสถ์วัดปากน้ำยิ้มให้ลุงเห็น

วันนั้นเป็นการฝึกเฉพาะตน ขี้เกียจขึ้นมา ก็เอาศีรษะพาดรมที่ปูในโบสถ์ได้แล้วก็นอน หลับตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบ

ตื่นขั้นมาเห็นพระประธานท่านยิ้มให้ ยังจำได้ไม่ลืม พระประธานโบสถ์วัดปากน้ำศักดิ์สิทธิ์ขนาดนี้ อนุเคราะห์ให้ลุงนอนในโบสถ์ พอลุงตื่นขึ้น ท่านก็ยิ้มให้

สรุปว่า ตอนที่ลุงเรียนวิชาครูหลักสูตร 3 ปี ลุงไปเรียนวิชาธรรมกายที่วัดปากน้ำแล้ว วันเสาร์วันอาทิตย์ก็พากเพียรไปวัดปากน้ำ ถึงกำหนดปิดเทอมก็ไม่กลับบ้าน ไปอาศัยอยู่กับพระมหาประเสริฐที่วัดปากน้ำ เพื่อเรียนวิชาธรรมกาย

เรียนจบวิชาครูหลักสูตร ป.ป. เมื่อปี 25499 เข้ารับราชการเป็นครูโรงเรียนโยธินบูรณะ (อยู่สี่แยกเกียกกาย ใกล้บางกระบือ) สอนโรงเรียนโยธินบูรณะ 2 ปี แล้วย้ายไปเป็นครูโรงเรียนวัดบวรนิเวศ สอนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ 8 ปี

การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนฝึกหัดครู ต่อมายกฐานะเป็นวิทยาลัย อย่างโรงเรียนฝึกหัดครูพระนคร ก็ย้ายสถานที่จากเดิมที่อยู่หลังกระทรวงศึกษาธิการ ก็ย้ายไปอยู่บางเขน ยกฐานะเป็นวิทยาลัย ชื่อว่า วิทยาลัยครูจันทร์เกษม ต่อมาเป็นวิทยาลัยราชภัฏ

ต่อไปจะเปลี่ยนแปลงกันอย่างไร? ยังไม่ทราบ และโรงเรียนฝึกหัดครูอื่นก็เปลี่ยนแปลง ได้รับการยกฐานะกันทั้งนั้น

สำหรับโรงเรียนฝึกหัดครูพระนครที่ลุงเคยมารับการศึกษานั้น ยังมีอนุสรณ์ให้เห็นอย่างหนึ่ง คือ ประตูโรงเรียนเป็นประตูคู่กับประตูโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม แม้บัดนี้ก็คงสภาพอยู่เช่นนั้น นอกนั้นไม่มีอะไรเหลือให้เห็นความหลังเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น