บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

งานฝึกวิทยากรหลังเกษียณ

เรื่องที่สามคือ เรื่องที่ลุงป่วยด้วยมะเร็งกล่องเสียง ส่งผลให้พูดไม่ได้ ส่งผลให้งานเผยแพร่วิชาธรรมกายที่ลุงทำอยู่เดิมต้องล้มเลิกไปหรืออย่างไร? เหตุการณ์มาถึงตอนที่ลุงพูดไม่ได้นั้น งานเผยแพร่วิชาของลุงจะทำอย่างไรต่อไป? นั่นเอง

ลุงมีฐานะเป็นคนไข้ ต้องไปพบแพทย์ตลอดชีวิต ต้องกินยาตลอดชีวิต ต้องไปพบแพทย์ตามคำสั่งนายแพทย์ กินก็ต้องกินอย่างคนป่วย นอนก็ต้องนอนอย่างคนป่วย

น่ารำคาญที่สุด ไม่ปกติเหมือนคนธรรมดาเสียแล้ว

ทุกวันนี้นั่งเป็นประธานให้พวกเราได้ เป็นเพราะกำลังใจของลุงเท่านั้น บางครั้งก็อยากให้ชีวิตจบลง เพราะทำอะไรไม่ได้เหมือนคนปกติ เกิดการอึดอัดใจ

หากเราตายลงไป มันจะได้จบกันเสียที เราคิดอย่างนั้น แต่ความคิดของลุงกับความคิดของธาตุธรรมต่างกัน? ต่างกันอย่างไร? หากเราอยากให้ลุงบรรยาย ลุงจะเล่าให้ทราบ ดังนี้

พวกเราคงจำได้ ถึงการรักษาตัวของลุง ระหว่างที่ลุงพักอยู่ที่โรงแรมตรังนั้น ตอนเย็นต้องไปฉายแสงที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ระหว่างฉายแสงนั้น ส่งผลให้ลุงกินอะไรไม่ได้

ลุงต้องฉายแสงถึง 44 ครั้ง ซึ่งจำนวนครั้งที่ฉายมากกว่าคนไข้ใดๆ ทั้งนั้น ระหว่างฉายแสง ลุงทานอาหารไม่รู้รส จึงกินอะไรได้น้อย  กำลังไม่ดี

ก็มีเหตุการณ์ที่คุณเลอศักดิ์มารับลุงไปนั่งเป็นประธานงานเผยแพร่วิชาธรรมกายที่โรงเรียนของ ผอ. อโนชา

วันนั้นลุงกินอะไรไม่ได้เลย เพราะพิษของแสงที่ฉาย  ทำให้เรากินอะไรไม่ได้ เบื่อไปหมด คิดว่า นั่งเป็นประธานฟังพวกเราประชุมกันต้องเป็นลมแน่นอน

เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นลม  ตอนนั้นลุงเกิดความเบื่อหน่ายสังขารร่างกายตัวเองเหลือเกิน เราจะรักษาตัว แต่ระหว่างที่รักษาตัวอยู่นั้น  มีงานเผยแพร่ธรรมเกิดขึ้น  ลุงอยากหยุด แต่ธาตุธรรมท่านไม่ยอม  เราต้องไปทำงาน  เราอยากตายเพื่อชีวิตเราจะได้จบลง

การรักษาตัวที่ดำเนินอยู่นี้ เป็นที่น่ารำคาญแก่ลูกเมีย เป็นที่น่ารำคาญแก่เพื่อนสหธรรมิก

ธาตุธรรมท่านว่าอย่างไรกับลุง?  ท่านทั้งหลายอยากทราบ  ลุงก็จะบอก "ยังตายไม่ได้ ต้องทำงานต่อไป ป่วยก็รักษากันไป"  คำนี้ลุงจำได้ไม่ลืมจนวันนี้

และระหว่างฉายแสงอยู่นั้น  ต้องทำการสอบวิทยากร  ตามแต่ใครจะมาขอสอบ นอนอยู่กับเตียงได้ที่ไหน

จำได้ว่า ผู้ที่ขอสอบตอนนั้นคือ นายแพทย์นิพนธ์  หลงประดิษฐ์ คุณนรินทร์  เอื้อศิริวรรณ และใครต่อใครอีกหลายคน  ตรงนี้เองเป็นข้อมูลบ่อชี้ว่า  ธาตุธรรมท่านไม่ยอมให้เราว่าง

เพื่อนสหธรรมมิกมาสู่แล้ว  ต้องทำธุระของเขาให้เสร็จ  จะอ้างป่วยไข้ไม่ได้ทั้งนั้น ยังมีลมหายใจอยู่ก็ต้องทำ  ไม่เลือกว่า เราจะป่วยไข้หรือไม่  แม้เจ็บไข้อยู่ก็ต้องทำ เพราะยังมีลมหายใจอยู่ ธาตุธรรมท่านไม่ยอมให้เราพัก  ต้องทำงานตลอดไป

หยุดไม่ได้เลย เราจะตายก็ตายไม่ได้  เรื่องมันเป็นอย่างนี้

พวกเราคงจำเหตุการณ์ได้  พอลุงฉายแสงเสร็จ  ออกจากโรงแรมตรัง ก็ดำเนินการก่อตั้งงานผลิตวิทยากรอย่างทันใด  ต้องส่งวิทยากรที่ผ่านการสอบแล้ว  ออกไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้  งานเผยแพร่ของเราไม่ได้หยุดเลย

จนพวกเราสอนโรงเรียนในกรุงเทพเกือบทั่วทุกโรงเรียนแล้ว  งานฝึกวิทยากรต้องทำต่อไป งานสอนตามโรงเรียนต่างๆ ต้องทำต่อไป  หยุดไม่ได้เลย

ลุงพักรักษาตัว แต่ก็พักไม่ได้  ธาตุธรรมท่านไม่ยอม  เมื่อมีงานมา ลุงต้องทำทันที ปฏิเสธไม่ได้เลย  เว้นแต่วันใดไม่มีงาน  เราก็พักผ่อนไว้

ชีวิตนี้ลุงพักผ่อนไม่ได้ ต้องทำงานถวายธาตุธรรม แม้ป่วยไข้ก็ต้องทำงาน ดังที่ลุงเล่านี้

นี่คือ  บรรยากาศของชีวิตของลุง หลังจากที่ลุงออกจากโรงพยาบาลแล้ว

บัดนี้ งานฝึกวิทยากรคงดำเนินต่อไปเป็นปกติ  วันอาทิตย์ปลายเดือนของทุกเดือน พวกเรานัดประเมินผลงานการสอนของวิทยากรสายต่างๆ ไปพบกันที่บ้านของลุงเดือนละ 1 ครั้ง แต่บ้านของลุงคับแคบ

ลุงนัดไปพบกันที่ร้านอาหาร  เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป  การประชุมเสร็จสิ้นเวลา 15.00 น.  จากนั้น พวกเราต่างก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา  บางสายเช่ารถตู้มา บางท่านต้องขึ้นเครื่องบินมาประชุม

สาระแห่งการประชุมคืออะไร?  ท่านอยากให้ลุงสรุปเนื้อหาสาระว่า วันประชุมประจำเดือน มีสาระสำคัญอะไร

วาระการประชุมมีดังนี้

1) วาระแรก ทุกสายของวิทยากรต้องรายงานผลงานสอนว่า ในรอบเดือนนี้สอนโรงเรียนใด?  มีนักเรียนเท่าไร?  ผลของการฝึกได้ผลอย่างไร?  เห็นดวงธรรมกี่คน?  เห็นกายธรรม 4 กายธรรมกี่คน?  เดินวิชา 18 กายได้มีกี่คน  วิทยากรที่ร่วมงานมีกี่คน? ใครบ้าง?  เพื่อที่ประชุมจะได้อนุโมทนา

2) วาระที่สอง คณะวิทยากรถามปัญหา ลุงเป็นผู้ตอบ ปัญหาที่ถาม มีทั้งปัญหาที่จะพบเห็นในงานสอน และปัญหาข้อข้องใจที่อ่านพบในตำราวิชชาธรรมกายทุกหลักสูตร

3) วาระที่สาม ลุงสาธิตการสอนให้ดูเป็นตัวอย่าง

4) วาระที่สี่ บูชาข้าวพระพร้อมกัน ลุงเป็นผู้ทำวิชา พวกเราทำวิชาพร้อมกับลุง บูชาเสร็จ รับประทานอาหารกลางวันพร้อมกัน

5) วาระที่ห้า เดินวิชาพร้อมกัน ลุงเป็นผู้สั่งวิชา เพื่อคำนวณรับดวงบารมีจากการสอนเผยแพร่ของพวกเราชาวสหธรรมิก

เสร็จแล้วเดินทางกลับ เดือนหน้าพบกันใหม่

เรื่องสำคัญที่ลุงกำชับคืออะไร? คือ เรื่องการเดินวิชา  เราต้องเดินวิชาเป็นอาจิณ หากวิชาเรื้อรัง มารเขาได้เปรียบทันที  วิชาต้องถูกต้อง ต้องยึดตำราของหลวงพ่อเป็นหลักเข้าไว้

ทุกวันนี้ลุงเสียใจมากที่วิชาของเราเฝือกันหมดแล้ว  วิชาเพี้ยนกันหมดแล้ว  เหตุเกิดจากเชื่อมาจากการเรียนของครูอาจารย์เดิม สอนกันมาอย่างไร?  ก็ทำไปตามนั้น

ครูอาจารย์เดิมอ้างว่า ฉันเรียนมาจากหลวงพ่ออย่างนี้ เขาอ้างหลวงพ่อ  พวกเราก็เชื่อ นี่คือ การประมาทอย่างที่ไม่น่าอภัยให้ 

ครูอาจารย์ทั้งหลายเคยตรวจสอบความรู้ของท่านบ้างหรือเปล่า?  ไม่เคยได้ยินใครยืนยัน  นี่คือ การพลาดพลั้งของเรา ที่เราไม่เคยตรวจสอบความรู้ของเรากับตำราเลย

ลุงก็บอกแก่ท่านแล้วว่า ลุงเคยเรียนมาตั้ง 10 ปี แต่แม่ชีถนอมท่านบอกว่า  ความรู้ของลุงเพี้ยน  ท่านอ่านพบเรื่องราวแล้ว  ลุงได้บรรยายผ่านมาแล้ว

ใครที่ไม่เปิดตำรา?  ความรู้จะเพี้ยนโดยไม่รู้ตัว  แม้พระสงฆ์ยังต้องลงฟังปาฏิโมกข์ในอุโบสถ แต่วิชาธรรมกายลึกซึ้งกว่านั้น  ทำไมท่านไม่เปิดตำรา?  ประมาททั้งนั้น

เกจิอาจารย์ผู้เป็นเจ้าของสำนัก  มักอ้างว่า เรียนมาจากครูบาอาจารย์อย่างนั้น  อ้างว่าหลวงพ่อสอนอย่างนั้น แต่พอถามว่าเปิดตำราของหลวงพ่อดูบ้างหรือเปล่า?

เพียงเท่านั้นเอง ทุกอาจารย์ต่างก็เงียบ ไม่ตอบอะไร?

ถามว่า จำวิชาอะไรได้บ้าง?  เขาก็ว่าจำได้เท่าที่จำ

แล้วเราก็จงดูต่อไปอีกว่า  มีใครค้นคว้าอ่านตำรากันบ้าง?  เป็นเรื่องการศึกษาค้นคว้าของเรา  เราไม่ได้ว่าอะไรใคร?  ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปวิจารณ์ใคร  แต่เรากลัววิชาเพี้ยน เพราะ มารเขาเป็นเจ้าของความเพี้ยน

ส่วนความแม่นยำตำราเป็นของภาคพระ  ภาคพระเป็นเจ้าของความถูกต้อง เพราะเหตุนี้เอง  พระสงฆ์จึงต้องหมั่นลงฟังปาฏิโมกข์ ก็เพื่อให้เราแม่นสูตรเข้าไว้  แม่นตำราไว้

ในตลาดของวิชาธรรมกายเท่าที่ลุงตั้งข้อสังเกตดู  ลุงก็ว่าวิชาเพี้ยนหมดแล้ว จนเราไม่มีประวัติว่าแก้โรคได้ ไม่มีประวัติว่าแก้ทุกข์ร้อนให้แก่ผู้บริจาคบำรุง ไม่มีประวัติว่าตรวจคนตายได้

ข้อมูลนี้บ่งชัดว่าวิชาเพี้ยน  ท่านอยู่ในฐานะทำอะไรไม่ได้  มารเขาได้จังหวะ เขาก็พลิกธาตุธรรมทันที

ข้อมูลอีกประการหนึ่ง ก็คือ การสอนวิชาธรรมกายเบื้องต้น  สอนกันมากเหลือเกิน เป็นที่น่าอนุโมทนา  จัดบวชหมู่กันมาก แต่พอไปวัดผลการสอนดู  ปรากฏว่า ธรรมไม่เกิด ไม่มีใครเห็นธรรม

บวชกันจำนวนมาก เนื้อหาแห่งการบวชก็เพื่อสอนวิชาธรรมกายเบื้องต้น วัดผลแล้วปรากฏว่า แม้หลักสูตรเบื้องต้นก็ยังสอนกันไม่ได้ผล  แล้วเราจะหวังอะไรในวิชาชั้นสูง  เวลานี้วิชาธรรมกายชั้นสูง คือ หลักสูตรต่อไปนี้ รวม 4 หลักสูตร คือ

1) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับกลาง (ประถมศึกษา) คือ หลักสูตรคู่มือสมภาร
2) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับยาก (มัธยมศึกษา) คือ หลักสูตรวิชชามรรคผลพิสดาร 1
3) วิชาธรรมกายหลักสูตระดับยากมาก (อุดมศึกษา) คือ หลักสูตรวิชชามรรคผลพิสดาร 2
4) วิชาธรรมกายหลักสูตรระดับยากยิ่ง (อุดมศึกษาพิเศษ) คือ หลักสูตรปราบมาร

ถามว่า ความรู้วิชาธรรมกาย 4 หลักสูตรที่กล่าวนี้ มีใครบ้างไหมที่มีความรู้? หลักสูตรใดมีเนื้อหาวิชาอย่างไร? จงบรรยายให้เราทราบบ้าง หน้าตาของหลักสูตรมีอย่างไร?

ถามกันตรงๆ อย่างนี้ไปเลย  ไม่ต้องอ้อมค้อมอะไรกัน  บางท่านอ้างว่า ปราบมาร แต่ไม่มีเอกสารรายงานประชาชน ไม่มีวิทยานิพนธ์มาแสดง แล้วจะให้เราเชื่อได้อย่างไร?

วิชาเบื้องต้นก็ไม่เป็นเรื่องแล้ว แล้วเราจะฟังอะไรได้  ข้อมูลที่สนับสนุนผลงานไม่มีเลย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ปราบมารเขาทำกันอย่างไร?  ได้ผลงานอะไรบ้าง?

ไม่มีเอกสารรายงานเลย แล้วเราจะได้หลักฐานอะไรที่แสดงว่าทำวิชาปราบมาร

ที่ลุงบรรยายมาถึงตรงนี้ ก็ต้องการชี้ให้เห็นชัด  ทุกอย่างต้องมีตำรายืนยันความรู้ แม้พระไตรปิฎกยังมีตำราเป็นหนังสือ 45 เล่ม เป็นหลักฐานให้เราได้ศึกษาเล่าเรียน

ไปเที่ยววัดใดก็เห็นหนังสือพระไตรปิฎกเก็บไว้ในตู้ของวัด นั่นคือ หลักฐานเป็นตัวหนังสือให้ศึกษาเล่าเรียนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น